มันดาลาที่งดงาม ที่สร้างขึ้นมาจากทรายปลากสี นี้เสร็จด้วยการภาวนาอย่างจดจ่อของท่านสามเณรีสี่รูปจากวัดโกปัน เนปาล ซึ่งได้ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๑๑ –๑๗ มิถุนายน ในช่วงการประชุมนานาชาติศากยธิดาครั้งที่ ๑๒ และในประเพณีของพุทธทิเบตเนปาล เมื่อเสร็จการทำมันดาลาจำเป็นต้องมีพิธีพุทธาภิเษกซึ่งเป็นพิธีการอัญเชิญ พระโพธิสัตว์ เสด็จเข้าสู่ที่ประทับคือมันดาลา (มันดาลาเปรียบเสมือนวังหรือวัดซึ่งเป็นที่ประทับของพระโพธิสัตว์) ซึ่งจะทำให้มันดาลานี้ศักดิ์สิทธิ์
โดยปกติแล้ว เมื่อทำมันดาลาเสร็จจะกำหนดวันเพื่อทำ พิธีสลายธาตุ โดยนำทรายทั้งหมดจากมันดาลารวมกันแล้วนำไปลอยในแม่น้ำ เพื่อเป็นการแสดงธรรมของความไม่มีตัวตน แต่เนื่องจากการทำมันดาลาไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย ภิกษุผู้ทำพิธีจึงอนุญาตให้ยังคงรูปมันดาลาไว้ให้ชาวไทยได้ศีกษาต่อเป็นเวลาหนึ่งปี
ในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ เสถียรธรรมสถานได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์เทนซิน โซปา เป็นผู้ทำพิธีพุทธาภิเษกมันดาลา ณ เสถียรธรรมสถาน เวลา 16:00 น ชั้นสอง อาคารสาวิกาสิกขาลัย
ประวัติพระอาจารย์เทนซิน โซปา
พระอาจารย์เทนซิน โซปา เกิดปี 1975 ในหุบเขาซุม ทางแถบเทือกเขาหิมาลัยของประเทศเนปาลเมื่ออายุ 2 ปี เริ่มศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาจากท่านลามะกอนชก ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่านและเป็นลามะชั้นสูงผู้เป็นที่เคารพรักใคร่ของชาวพุทธในทิเบตและเนปาล
ปี 1984 พระอาจารย์เทนซิน โซปา ได้เข้ารับการอุปสมบท ณ วัดโกปัน เมื่ออายุ 9 ปี จากนั้นท่านจึงเริ่มศึกษาภาษาทิเบต ไวยากรณ์ ภาษาอังกฤษ ภาษาเนปาล ศิลปะ ระบำลามะ พิธีกรรมต่างๆ ฯลฯ และเริ่มศึกษาพุทธปรัชญาในปี 1986 ทั้งยังเป็นผู้ติดตามพระอาจารย์กอนชก และได้เคยออกบำเพ็ญธรรมในถ้ำในหุบเขาซุมเป็นเวลา 6 เดือน
ปี 1990 พระอาจารย์เทนซิน โซปา เข้าศึกษาในสังฆวิทยาลัยเซรา เจ ในเมืองมายซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ระหว่างนั้นก็ยังคงติดตามพระอาจารย์กอนชกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเผยแพร่คำสอนของพุทธศาสนาและช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยาก ต่อมาในปี 2007 ท่านได้สำเร็จการศึกษาระดับ "เกเช" (เทียบเท่าระดับปริญญาเอกทางธรรม)
นอกจากความรู้อันกว้างขวาง ความชำนาญและประสบการณ์ในการเทศนาสั่งสอนและให้คำแนะนำปรึกษาในหัวข้อธรรมต่างๆ แล้ว ความเชี่ยวชาญของท่านในการประกอบพิธีกรรมเพื่อขอคำชี้แนะจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังเอื้อประโยชน์แก่ผู้คนมากมายอีกด้วย
ปัจจุบันพระอาจารย์เทนซิน โซปา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโครงการของสำนักสงฆ์และสามเณรีในหุบเขาซุม ทั้งยังเป็นผู้รับผิดชอบดูแลท่านพุนซก รินโปเช ผู้เป็นองค์นิรมานกายของพระอาจารย์กอนชกผู้มรณภาพ และยังได้รับแต่งตั้งเป็นพระอาจารย์ประจำศูนย์อนุรักษ์พุทธศาสนามหายานแห่งโลซาง ดรักปา เซ็นเตอร์ (LDC) ประเทศมาเลเซีย
อนุโมทนาบุญด้วยครับ ^_^